ผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ ปี 2556

เขียนโดย webmaster เมื่อ
ชื่อเอกสาร:
ผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ ปี 2556
แหล่งที่มา/จัดทำโดย: 
มูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน
ผู้สนับสนุน: 
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ปีที่จัดทำเผยแพร่: 
2557
สรุปย่อ: 

มูลนิธิไทยโรดส์และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์บนท้องถนน เป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปี 2553 โดยในปี 2556 นี้ได้ทำการสำรวจผู้ใช้รถจักรยานยนต์ จำนวน 1,484,669 คน ทั้งในเขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ภาพรวมผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยสวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 43 ซึ่งเท่ากับปี 2555 แบ่งเป็นผู้ขับขี่และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 51 และ 19 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบบริบทพื้นที่การสำรวจ พบว่า อัตราสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ในเขตเมืองใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 72 เขตเมืองรอง ร้อยละ 46 และเขตชุมชนชนบท มีเพียงร้อยละ 29 เท่านั้น เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุรวมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร พบว่า กลุ่มผู้ใหญ่สวมหมวกนิรภัย คิดเป็นร้อยละ 49 กลุ่มวัยรุ่นร้อยละ 23 และมีแนวโน้มลดลง และกลุ่มเด็กเฉพาะผู้โดยสาร มีการสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น โดยผลการสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็ก มีการคาดการณ์จำนวนเด็กที่ยังไม่มีหมวกนิรภัยสวมใส่สูงถึง 1.253 ล้านคน  นอกจากนั้น จากการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ พบสาเหตุและแนวโน้มของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่จะไม่สวมหมวกนิรภัย คือ 1. รู้สึกไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจจับ 2. ไม่ค่อยพบเห็นจุดตรวจ/ด่านตรวจ และหลบเลี่ยงเพราะรู้สถานที่และเวลาของจุดตรวจ/ด่านตรวจ 3. ไม่รู้ว่าหากผู้โดยสารไม่สวมหมวกนิรภัย “ผิดกฎหมาย” และ 4. รู้สึกว่าตำรวจไม่กวดขันจับกุมอย่างเข้มงวด จากผลการศึกษาดังกล่าว ขอเสนอทิศทางการขับเคลื่อนส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% คือ 1. เน้นรณรงค์บริเวณนอกเขตเมืองของทุกจังหวัด 2. ทดลองใช้นวัตกรรมรูปแบบการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ในพื้นที่นำร่อง เช่น การสุ่มเวลาและสถานที่ตรวจจับ การถ่ายภาพและส่งหมายเรียกไปทางไปรษณีย์ 3. การส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยให้เป็นเรื่อง “วัฒนธรรมความปลอดภัย” และเร่งสร้างให้เกิด “มาตรการองค์กร” ในการสวมหมวกนิรภัย 100% และ 4. สร้างการรับรู้ของประชาชนในเรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องผู้โดยสารไม่สวมหมวกนิรภัย ถือว่า “ผิดกฎหมาย” ผ่านการตรวจจับจริงให้ผู้สัญจรได้พบเห็นและรับรู้ 

ดาวน์โหลดไฟล์:
press_helmet_survey_2556.pdf
(จำนวนดาวน์โหลด 2,911 ครั้ง)