สวมหมวกนิรภัย

เขียนโดย webmaster เมื่อ
สวมหมวกนิรภัย

หมวกนิรภัยเป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบเพื่อช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะหากเกิดอุบัติเหตุ โดยงานศึกษาวิจัยของต่างประเทศและในประเทศไทยได้ยืนยันถึงประสิทธิภาพของหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ว่าสามารถลดความรุนแรงของการบาดเจ็บและลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ แม้ว่ากฎหมายจะระบุให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัย แต่ในปัจจุบันยังคงพบเห็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ละเลยและฝ่าฝืนกฎข้อบังคับดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าเดินทางเพียงแค่ระยะใกล้และไม่ต้องขับขี่รถออกถนนใหญ่

ประสิทธิผลของการสวมหมวกนิรภัย

ประสิทธิผลของหมวกนิรภัยในประเทศไทยได้รับการยืนยันชัดเจนจากผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย [1] อาศัยแบบจำลองทางสถิติและการวิเคราะห์ข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของโรงพยาบาลเครือข่ายทั่วประเทศ พบว่า การสวมหมวกนิรภัยช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ถึง 43% สำหรับผู้ขับขี่ และ 58%สำหรับผู้ซ้อนท้าย

การสวมหมวกนิรภัยของคนไทย

ผลการสำรวจผู้ใช้รถจักรยานยนต์บนท้องถนนจำนวน 1,502,949 ราย ทั่วประเทศ 77 จังหวัด ในปี พ.ศ. 2555 [2] โดยมูลนิธิไทยโรดส์และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) พบว่า ในภาพรวมมีผู้ใช้รถจักรยายนต์สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 43 แบ่งเป็นคนขี่รถจักรยายนต์สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 52 และ คนซ้อนท้ายสวมหมวกนิรภัยร้อยละ 20 เมื่อจำแนกตามกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ พบว่า วัยรุ่นสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ28 น้อยกว่าผู้ใหญ่ที่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 49 และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กที่มีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น และหากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน พบว่าประเทศไทยมีระดับการบังคับใช้กฎหมายหมวกนิรภัยต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และลาว [3]

เมื่อพิจารณาผลการสำรวจฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2555 (รูปที่ 1) ยังพบว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง ปี พ.ศ. 2554 เพียงเล็กน้อย ซึ่งตรงกับเป็นปีที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการ “รณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์” ตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งมีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย กันอย่างเข้มข้นตลอดทั้งปี แต่ในปี พ.ศ. 2555 กลับพบว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัยลดลงและใกล้เคียงกับ ปี พ.ศ. 2553

รูปที่ 1  อัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2553-2555

สถานการณ์ปัจจุบัน

ผลการสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยทั่วประเทศล่าสุด ในปี พ.ศ. 2555 พบว่า

> ในภาพรวมผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 43 แบ่งเป็นผู้ขับขี่ร้อยละ 52 และผู้โดยสารร้อยละ 20
> เขตชุมชนเมืองสวมหมวกนิรภัยค่อนข้างสูงกว่าร้อยละ 70 ขณะที่ในเขตชุมชนชนบทสวมหมวกนิรภัยน้อยเพียงร้อยละ 30

ข้อกำหนด/กฎหมายบังคับ

กฎหมายข้อบังคับการสวมหมวกนิรภัย ตามประกาศของกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 พ.ศ. 2535 ว่าด้วย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 122 ระบุว่า ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันอันตรายในขณะขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ โดยมีผลบังคับใช้ทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา
 

การสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์

การวิเคราะห์หาอัตราการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มผู้ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของโรงพยาบาลเครือข่ายระดับชาติ  [4] ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2554 พบว่า ผู้ใช้รถจักรยายนต์ที่ประสบอุบัติเหตุรถจักรยายนต์ ยังคงมีแนวโน้มการใช้หมวกนิรภัยอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก โดยผู้ขับขี่ใช้หมวกนิรภัยไม่ถึง ร้อยละ 20 ในขณะที่ผู้โดยสารใช้หมวกนิรภัยไม่ถึง ร้อยละ 10

สาเหตุของการไม่สวมหมวกนิรภัย

ข้อมูลผลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงด้วยวิธีสอบถาม (Self-Reported Survey) ของผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ ในปี พ.ศ. 2553 โดยมูลนิธิไทยโรดส์และเครือข่ายเฝ้าระวังฯ  [5] พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของการไม่สวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ใน 3 อันดับแรก คือ เดินทางระยะใกล้ (ร้อยละ 65 และ 66) ไม่ได้ขับขี่ออกถนนใหญ่ (ร้อยละ 36 และ 34) และเร่งรีบ (ร้อยละ 31 และ 29) ตามลำดับ

 

อัพเดต  6 ธันวาคม 2556

 



เอกสารอ้างอิง

1. Kanitpong. K, Boontob. N, and Tanaboriboon, Y. (2008) Helmet Use and Effectiveness in Reducing the Severity of Head Injuries in Thailand, Transportation Research Record 2048, Journal of Transportation Research Board, pp 66-76

2. รายงานอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2555, มูลนิธิไทยโรดส์และเครือข่ายเฝ้าระวังและสะท้อนสถาการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) ภายใต้การสนับสนุนของสำงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

3. World Health Organization (2013) Global Status Report on Road Safety 2013

4. ข้อมูลเครือข่ายโรงพยาบาลเฝ้าระวังสถานการณ์ระดับชาติ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

5. ผลจากการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงด้วยวิธีการสอบถาม (Self-Report Survey) ของผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล เช่น รถเก๋ง รถกระบะ และรถตู้ จำนวน 45,973 ราย ใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมีนาคม – กรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดยมูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังและสะท้อนสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch)

สื่อความรู้อื่นๆ (Video, Youtube):
See video
การสำรวจการสวมหมวกนิรภัยในประเทศไทย
See video
็Helmet Wearing Campaign Indonesia