ในปี 2555 อุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากพฤติกรรมเมาแล้วขับ คิดเป็นร้อยละ 6 ของคดีอุบัติเหตุจราจรจากระบบข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลดลงจากปี 2553 และ 2554 ที่มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 8 โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเดือนที่มีช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์
หากพิจารณาอุบัติเหตุเฉพาะที่เกิดขึ้นบนทางหลวง พบว่ามีสาเหตุจากเมาแล้วขับเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าสถิติในภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่กลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปี 2555โดยอุบัติเหตุเมาแล้วขับส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 40-50เกิดขึ้นบนทางหลวงแผ่นดินสายรอง (ทางหลวงหมายเลข 3 และ 4 หลัก) และช่วงเวลาที่มักเกิดเหตุบ่อย คือ ช่วงหกโมงเย็นถึงสามทุ่ม และช่วงเที่ยงคืนถึงตีสาม
สำหรับความเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนน ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บในโรงพยาบาลเครือข่าย ยังคงรายงานแนวโน้มที่ลดลงในภาพรวม โดยในปี 2555 พบการดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มผู้บาดเจ็บที่ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทร้อยละ 33.25อย่างไรก็ดี สถานการณ์การดื่มแล้วขับในกลุ่มผู้ขับขี่รถยนต์นั่งส่วนบุคคล จำเป็นต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพบว่าสัดส่วนการดื่มแล้วขับของผู้บาดเจ็บกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีสัดส่วนการดื่มแล้วขับลดลงอย่างต่อเนื่อง