การใช้ความเร็วมีความสัมพันธ์กับโอกาสการเกิดอุบัติเหตุและความรุนแรงที่เกิดขึ้น
> ยิ่งเร็ว ก็ยิ่งหยุดยาก เมื่อเพิ่มความเร็วจาก 32 กม./ชม. เป็น 112 กม./ชม. หรือ 3.5 เท่า จะต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า [1] (ดูรูปที่ 1) ดังนั้น ถ้ารถคันหน้าเบรคกระทันหัน คนเดินถนนหรือสัตว์วิ่งตัดหน้ารถ รถที่วิ่งเร็วมากก็เสี่ยงมากต่อการชน
> ยิ่งเร็วยิ่งเจ็บหนัก เมื่อความเร็วมากกว่า 80 กม./ชม.ขึ้นไป [2]ถ้าชนกัน จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า การชนกันที่ความเร็ว 40กม./ชม. ถึง 15เท่า [3] และความเร็วเพิ่มทุกร้อยละ 10 จะเพิ่มแรงปะทะร้อยละ 21และเพิ่มความรุนแรงของอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 46 [4]
> ชะตากรรมคนเดินถนนก็ขึ้นกับความเร็ว เมื่อถูกรถชนคนเดินถนนจะมีโอกาสเสียชีวิตเพียงร้อยละ5หากถูกชนที่ความเร็ว 32กม./ชม. แต่จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45หากถูกชนที่ความเร็ว 48 กม./ชม. และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85หากถูกชนที่ความเร็ว 64 กม./ชม.
รูปที่ 1 ระยะหยุดรถอย่างปลอดภัยที่ความเร็วต่างๆ [5]
การขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นสาเหตุหลักอันดับต้นของอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย โดยจากระบบข้อมูลคดีอุบัติเหตุจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุความเร็วเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 16,000 ราย คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 19 ของอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด สถานการณ์ยิ่งน่าวิตกเมื่อพิจารณาจากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางหลวง ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วมากกว่าถนนทั่วไป โดยระหว่างปี พ.ศ. 2544 – 2554 มีอุบัติเหตุบนทางหลวงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่ามีสาเหตุจากการใช้ความเร็ว คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 76 และปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง เช่นเดียวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งล่าสุดขยับเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยอุบัติเหตุเนื่องจากความเร็วบนที่เกิดขึ้นบนทางหลวงทุกๆ 10 ครั้ง จะมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 8 ราย
พฤติกรรมการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ เป็นมูลเหตุปัจจัยหลักของปัญหาที่น่าวิตกนี้ ผลสำรวจสอบถามทัศนคติของผู้ขับขี่รถยนต์ทั่วประเทศในปี 2553 ระบุว่า คนขับรถส่วนใหญ่ยอมรับว่ายังขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด และขาดการรับรู้ต่ออัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างถูกต้อง และ 1 ใน 3 ยังมีทัศนคติที่ผิดว่าการขับรถเร็วไม่น่าจะอันตรายหากเพิ่มความระมัดระวัง สอดคล้องกับผลสำรวจตรวจวัดความเร็วของรถยนต์ส่วนบุคคลและรถกระบะที่วิ่งบนทางหลวงสายหลักที่สำคัญใน 30 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศในปี พ.ศ. 2553 ระบุว่า ผู้ขับขี่มีพฤติกรรมการใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด (90 กม./ชม.) คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 40 - 90 ในทุกภูมิภาค [6] รวมถึงการสำรวจการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่รถตู้และรถบัสโดยสารรอบพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่องในปี 2555 พบว่า รถตู้มากกว่าร้อยละ 50 และรถบัสมากกว่าร้อยละ 65 มีพฤติกรรมขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด [7]
- การขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นสาเหตุหลักอันดับต้นของอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย
- ร้อยละ 76 ของอุบัติเหตุบนทางหลวงมีข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากการใช้ความเร็ว
- ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ยอมรับว่ายังขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด และขาดการรับรู้ต่ออัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างถูกต้อง
ความเร็วจำกัดตาม พรบ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522
- รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 90 กม./ชม. นอกเขตเทศบาล และไม่เกิน 80 กม./ชม. ในเขตเทศบาล กทม. และเมืองพัทยา
- รถบรรทุกและรถโดยสาร ไม่เกิน 80 กม./ชม. นอกเขตเทศบาล และไม่เกิน 60 กม./ชม. ในเขตเทศบาล กทม. และเมืองพัทยา
- รถพ่วงลากจูง ไม่เกิน 60 กม./ชม. นอกเขตเทศบาล และไม่เกิน 45 กม./ชม. ในเขตเทศบาล กทม. และเมืองพัทยา
ในภาคการบังคับใช้กฎหมายนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีการจับกุมผู้กระทำความผิดจากการใช้ความเร็วบนทางหลวงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 โดยล่าสุดในปี พ.ศ. 2554 มีการจับกุมผู้ฝ่าฝืนเป็นจำนวนถึง 341,332 ราย คิดเป็นตัวเลขเฉลี่ยวันละ 935 ราย แต่ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติในช่วงเวลาดังกล่าวบ่งชี้ว่าอุบัติเหตุบนทางหลวงที่เกิดจากความเร็วนั้น มีสัดส่วนที่ยังไม่ลดลงตามการบังคับใช้กฎหมายที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แสดงว่ามาตรการนี้น่าจะยังไม่เข้มข้นและยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงได้เพียงพอ
แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเริ่มมีการใช้อุปกรณ์ตรวจจับความเร็วและส่งหลักฐานถ่ายภาพไปยังเจ้าของรถยนต์ที่กระทำผิด แต่ทว่าการจัดหาอุปกรณ์ปืนตรวจจับความเร็วแบบถ่ายภาพให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการพัฒนาแนวทางการตั้งจุดตรวจจับความเร็วให้มีขีดความสามารถและประสิทธิภาพ ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นปัญหาในทางปฏิบัติอยู่เสมอ [8] ส่วนการการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วและถ่ายภาพแบบอัตโนมัติ (Automatic Speed Camera)ซึ่งเป็นแนวทางการตรวจจับและควบคุมความเร็วของยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับในหลายประเทศ พบว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นสำหรับประเทศไทยและมีการเริ่มติดตั้งใช้งานบนถนนด่วนบางเส้นทางเท่านั้น
สำหรับมาตรการเฉพาะสำหรับกลุ่มรถตู้โดยสารสาธารณะโดยการติดตั้งติดแถบตรวจบันทึกความเร็ว (RFID)เพื่อตรวจจับความเร็วของรถ ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา ยังมีข้อจำกัดในเรื่องเส้นทางและระยะทางที่ครอบคลุม รวมถึงประสิทธิภาพของการควบคุมความเร็ว ในขณะที่มาตรการเฉพาะสำหรับรถบัสโดยสารสาธารณะประจำทาง ปัจจุบันเริ่มมีการนำระบบ GPS Tracking มาติดตั้งกับรถโดยสาร บขส. และ รถร่วม บขส. ตั้งแต่ต้นปี 2556 รวมถึงการขยายผลไปถึงรถบรรทุกวัตถุอันตรายและรถลากจูงที่จดทะเบียนใหม่ แต่ยังเป็นสิ่งที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการพัฒนาศูนย์ข้อมูลติดตามและสั่งการ เพื่อให้การควบคุมความเร็วด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาสาระของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเร็ว พบว่ายังมีหลายประเด็นที่เป็นข้อจำกัดและควรได้รับการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมตามหลักวิชาการและสภาพการณ์ในปัจจุบัน อาทิเช่น ความเร็วจำกัดในเขตเทศบาล 80 กม.ต่อชม. สำหรับของรถยนต์ส่วนบุคคลหรือที่มีขนาดใกล้เคียง ซึ่งสูงกว่าความเร็วที่ใช้ออกแบบถนน (Design Speed) และสูงกว่าความเร็วจำกัดในเขตเมืองตามแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากล ความเร็วจำกัดของรถจักรยานยนต์ที่ยังไม่ถูกจำแนกไว้โดยเฉพาะ อัตราโทษปรับหรือบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนขับรถเร็วในปัจจุบันที่ควรได้รับการทบทวนและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ในด้านวิศวกรรมนั้น ที่ผ่านมาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านถนนของหน่วยงานที่รับผิดชอบยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญด้านความรวดเร็ว (Mobility)เป็นหลัก ดังที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปว่าผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วสูงผ่านเขตเมืองหรือชุมชนและปะปนไปกับผู้ใช้พาหนะขนาดเล็กรวมถึงคนเดินถนน อีกทั้งการประยุกต์ใช้มาตรการด้านวิศวกรรมที่ช่วยลดความเร็วของยานพาหนะ (Traffic Calming) ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการบางส่วนในการแก้ไขปัญหาการใช้ความเร็วในประเทศไทย รวมถึงช่องว่างและปัญหาอุปสรรคอีกหลายส่วนที่ยังรอได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ แม้ว่าเหตุผลและความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาการใช้ความเร็วจะมีความชัดเจนตามบริบททั้งด้านหลักวิชาการและข้อมูลสภาพปัญหาที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินงานที่ผ่านมายังขาดมุมมองปัญหาในภาพรวม รวมถึงทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความชัดเจนและครอบคลุมในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับนโยบายและระดับผู้ปฏิบัติ
การริเริ่มขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วโดยทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ปี พ.ศ. 2554 – 2563เป็นไปเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของคนไทยลดลงครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องการปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะให้ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ของแนวทางการดำเนินการภายใต้กรอบของทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน
อัพเดตเมื่อ 6 ธันวาคม 2556
เอกสารอ้างอิง
- Directgov (2010). Control of the vehicle, The Highway Code, Available Online at http://www.direct.gov.uk/en/TravelAndTransport/Highwaycode/DG_070304
- C. N. Kloeden, J. J. McLean, V. M. Moore and G. Ponte, "Travelling Speed and the Risk of Crash Involvement," Report No. CR 172, Federal Office of Road Safety, Canberra, Australia, 1997.
- H. C. Joksch, "Velocity Change and Fatality Risk in a Crash-A Rule of Thumb", Accident Analysis and Prevention, Vol. 25, No. 1, 1993.
- Vagverket. (2008). Swedish Road Administration. Retrieved from http://www.vv.se
- http://www.direct.gov.uk/prod_consum_dg/groups/dg_digitalassets/@dg/@en/@motor/documents/digitalasset/dg_188029.pdf
- รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการพัฒนาหน่วยเฝ้าระวังและสะท้อนสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิไทยโรดส์
- ผลจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้ความเร็วรถโดยสารบนเส้นทางหลวงสายหลัก รอบกรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องกัน 4 ไตรมาส ของปี พ.ศ. 2555 โดยมูลนิธิไทยโรดส์ และศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ด้วยอุปกรณ์ Laser Speed Detector โดยตรวจจับความเร็วรถโดยสาร 4 ประเภท คือ รถตู้ทั่วไป 6,798 คัน รถตู้ประจำทาง 4,421 คัน รถบัสทั่วไป 400คัน และรถบัสประจำทาง 1,514 คัน บนถนนพหลโยธิน ถนนบางนา - ตราด ถนนพระรามที่ 2 ถนนปิ่นเกล้า - นครชัยศรี และถนนมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ – ชลบุรี ภายใต้โครงการพัฒนาหน่วยเฝ้าระวังและสะท้อนสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน และโครงการพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยเฝ้าระวังและสะท้อนสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน สนับสนุนโดย สสส.
- Jiwattanakulpaisarn, P.,Kanitpong, K., and Suriyawongpaisal, P. (2009) “On the effectiveness of speed enforcement in Thailand: Current issues and need for changes and new approaches,” Transport and Communications Bulletinfor Asia and the Pacific, No. 79 Road Safety, United Nation, Economic and Social Commission for Asia and the Pacific, pp. 41-60.